งานมหกรรมสิ่งประดิษฐ์ด้านไอซีทีของนักเรียน ไทย-ญี่ปุ่น ปี 2562
โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัด “งานมหกรรมสิ่งประดิษฐ์ด้านไอซีทีของนักเรียนไทยและนักเรียนญี่ปุ่น” และการประชุมวิชาการ Thailand – Japan Student ICT Fair (TJ-SIF 2019) ภายใต้การสนับสนุนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) และสถาบัน KOSEN รวมทั้งความร่วมมือภาคีเครือข่าย กระทรวงศึกษาธิการประเทศไทย และประเทศญี่ปุ่น, สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พร้อมด้วยโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย 12 แห่งทั่วประเทศ ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงตลอดการจัดงาน
เมื่อวันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม 2562 ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน “มหกรรมสิ่งประดิษฐ์ด้านไอซีทีของนักเรียนไทยและนักเรียนญี่ปุ่นและการประชุมวิชาการ Thailand – Japan Student ICT Fair (TJ-SIF 2019)” และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ
ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประธานคณะกรรมการพัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย และประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงาน TJ-SIF 2019 กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์การจัดงานว่า ดังจะเห็นได้ว่าทางโรงเรียนมีการจัดงานและกิจกรรมใหญ่ ๆ ขึ้นพร้อมกัน 2 งาน ได้แก่ งานมหกรรมนำเสนอสิ่งประดิษฐ์ด้านไอซีทีของนักเรียนไทยและนักเรียนญี่ปุ่น Thailand – Japan Students ICT Fair 2019 และงาน Thailand – Japan Game Programming HACKATHON 2019 ระหว่างวันที่ 20 – 22 ธันวาคม 2562 ณ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร
วัตถุประสงค์การจัดงานครั้งนี้ เพื่อเป็นเวทีนำเสนอและแลกเปลี่ยนผลงานวิชาการและสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมด้าน ICT ของนักเรียนไทยและนักเรียนญี่ปุ่น โดยมีโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนที่เน้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย จำนวน 32 โรงเรียน ได้แก่ กลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย กลุ่มโรงเรียนในโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ฯ กลุ่มโรงเรียนในโครงการ พสวท. และ วมว. เป็นต้น และสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น จำนวน 26 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียน Super Science High School จำนวน 15 แห่ง และ สถาบัน KOSEN จำนวน 11 แห่ง โดยมีโครงงานสิ่งประดิษฐ์ด้าน ICT จำนวน 136 โครงงาน และมีผู้เข้าร่วมงาน รวมทั้งสิ้นจำนวน 591 คน
เป้าหมายการจัดงาน ICT Fair 2019 เพื่อเป็นการนำเสนอผลงานด้าน ICT ของนักเรียนที่เกิดจากการพัฒนาต่อยอดสมรรถนะและความสามารถเชิงสร้างสรรค์ด้านวิทยาการคำนวณและ ICT เพื่อยกระดับความรู้ความสามารถของนักเรียนด้าน Digital Technology โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการนำทักษะทาง Digital literacy มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการสร้างสรรค์นวัตกรรมสืบไป
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช กล่าวว่า นับเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้กล่าวเปิดงาน Thailand-Japan Student ICT Fair 2019 ณ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร ซึ่งดำเนินการจัดงานโดยคณะกรรมดำเนินงานของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬารณราชวิทยาลัย และ Super Science High Schools ประเทศญี่ปุ่น
ขอขอบคุณคณะดำเนินงานจากใจจริงที่ได้จัดกิจกรรมทางการศึกษานี้ขึ้น เป็นการให้โอกาสอันมีค่าแก่คุณครูไทยและญี่ปุ่น รวมทั้งนักเรียนไทยและญี่ปุ่นในการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานวิจัยที่คุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ ขอขอบคุณทุกคนสำหรับความพยายามและความร่วมมือในการจัดกิจกรรมทางวิชาการในครั้งนี้
ทุกท่านทราบกันดีว่าในขณะนี้พวกเราอยู่ในยุคสังคมดิจิทัล ที่เทคโนโลยีนั้นได้ฝังลึกลงไปในการใช้ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ระบบปฏิบัติการใหม่ ๆ ด้านสื่อมัลติมีเดีย ข้อมูลและการสื่อสารถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยนวัตกรรมเหล่านี้ก็ได้เข้ามามีอำนาจเหนือมนุษยชาติในหลาย ๆ ด้าน เป็นไปตามความสำคัญของเทคโนโลยีต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งการให้การศึกษาแก่บุคคลรุ่นใหม่ เพื่อที่จะได้รับความรู้ทั้งในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม อาจส่งผลดีต่ออนาคตของพวกเขาเอง
ทั้งนี้ เชื่อมั่นเป็นอย่างสูงว่านี่เป็นอีกหนึ่งเหตุผลหลักในการจัดงาน Thailand-Japan Student ICT Fair 2019 ด้วยการให้ความสำคัญในเรื่องของข้อมูลข่าวสาร การสื่อสารและเทคโนโลยี และเป็นที่คาดหวังว่าการจัดกิจกรมในครั้งนี้จะทำให้คุณครูและนักเรียนจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยและ Super Science High School จะเพิ่มประสิทธิภาพทั้งในด้านของการเรียนรู้และพัฒนาทักษะในด้านต่าง ๆ ผ่านการเรียนรู้ร่วมกัน
สำหรับโครงงานที่นำมานำเสนอในงานนี้ ประกอบไปด้วยหลากหลายสาขาอาทิ IoT Application, Robotics, Automotive, Software and Smart Electronics ซึ่งแน่ใจว่านักเรียนทุกคนจะได้รับประโยชน์จากการนำเสนอโครงงานในครั้งนี้ และเชื่อมั่นอย่างสูงว่าการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้จะยกระดับประสบการณ์ด้านการศึกษาเรียนรู้ของผู้เรียนในการพัฒนาระบบการศึกษาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Learning และระบบปฏิบัติการอิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งเป็นการแบ่งปันแหล่งการเรียนรู้ระหว่างสถาบันการศึกษา ช่วยส่งเสริมกระบวนการเรียนการสอนและให้ความสำคัญกับประเด็นที่สอดคล้องกับความต้องและความสนใจของผู้เรียนในยุคปัจจุบัน
การจัดงาน Thailand-Japan Student ICT Fair 2019 จะไม่สำเร็จลุล่วงได้ หากปราศจากความร่วมมือ และการสนับสนุนจากประเทศไทย และประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะเจ้าภาพกระทรวงศึกษาธิการ และกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย และขอขอบคุณอีกครั้งสำหรับการทำงานอย่างเต็มที่ของทุก ๆ ท่าน
ขอขอบคุณ ศธ.360 องศา
บัลลังก์ โรหิตเสถียร /สรุป
ปกรณ์ เรืองยิ่ง / ถ่ายภาพ
ผู้เขียน: ขรรค์ชัย สถิติ: 324 2,869