เคมีในชีวิตประจำวัน  
                เคมีคือสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา และเกี่ยวข้องกับเราตลอดเวลา เคมีเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในการดำรงชีวิตประจำวัน
               
เริ่มตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้า หลายคนอาจต้องพึ่งนาฬิกาปลุก คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่านาฬิกาปลุก ทำงานได้อย่างไร โดยมากนาฬิกาปลุกนั้น ทำงานโดยอาศัยแบตเตอรี่เป็นตัวจ่ายพลังงาน แบตเตอรี่นี่เองที่มีความเกี่ยวข้องกับเคมี แบตเตอรี่แบ่งได้เป็นหลายประเภท แต่ที่ใช้ในนาฬิกาปลุกนั้นเป็นแบตเตอรี่แห้ง หรือที่เรารู้จักคุ้นเคยกันดีในชื่อของ “ถ่านไฟฉาย” องค์ประกอบหลักของถ่านไฟฉายนี้คือ อิเล็กโทรด หรือขั้วไฟฟ้าซึ่งมีสองขั้ว ได้แก่ แคโทด และ แอโนด ขั้วไฟฟ้าทั้งสองนี้ มีสารเคมีเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ และจะมีปฏิกิริยาถ่ายโอนอิเล็กตรอนเกิดขึ้นระหว่างกัน
               
หลังจากตื่นนอนแล้ว ก็คงเลี่ยงไม่พ้นจากการแปรงฟัน เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่าน คงเคยอ่านฉลากข้างหลอดยาสีฟัน ที่เราๆ ท่านๆ ทั้งหลายใช้อยู่นี้  ถ้าลองหยิบมาดู จะพบชื่อสารเคมีต่างๆ มากมาย
                
ถัดจากกิจกรรมแปรงฟัน ก็คือการอาบน้ำ สระผม ชำระสิ่งสกปรกจากร่างกาย แน่นอน ทุกคนต้องใช้สบู่และยาสระผมเป็นน้ำยาที่ช่วยในการทำความสะอาด การที่สบู่สามารถชำระสิ่งสกปรกได้เนื่องจากสบู่มีคุณสมบัติเป็นสาร อิมัลซิฟาย คือเมื่ออยู่ในน้ำจะจัดเรียงตัวโครงสร้างเป็นแบบไมเซลล์ คือจะหันส่วนที่ชอบน้ำออกมาด้านนอกและส่วนที่เกลียดน้ำอยู่ด้านใน ซึ่งสิ่งสกปรกต่างๆ หรือคราบไขมันจะถูกจับไว้ในบริเวณด้านใน และทั้งไมเซลล์นี้จะถูกน้ำชะล้างออกไป ทำให้ร่างกายเราสะอาด จากนี้ก็พร้อมแล้วสำหรับการแต่งตัว ใส่เครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเสื้อผ้าที่เราใช้โดยมากผลิตมาจากเส้นใย ไม่ว่าจะเป็นเส้นใยธรรมชาติ หรือเส้นใยสังเคราะห์ กระบวนการทำเส้นใยนั้น หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องอาศัยกระบวนการทางเคมี ที่จะปรับคุณภาพของเส้นใยให้ใส่สบาย
               
เมื่อแต่งตัวเสร็จ ก็ถึงเวลาอาหารเช้า อาหารที่เราบริโภคอาจปรุงจากอาหารสดที่ซื้อสดจากตลาด หรืออาจเป็นอาหารแช่แข็ง ที่ต้องนำมาผ่านการอุ่นก่อนบริโภค ไม่ว่าจะเป็นอาหารสดหรืออาหารแช่แข็ง ล้วนประกอบด้วยเครื่องปรุงอาหาร สิ่งต่างๆ เหล่านี้ คงไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่ใช่สารเคมี
        
หลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ต่างก็ออกเดินทางจากบ้านเพื่อไปโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือที่ทำงาน หลายๆ คน ไม่ได้มีบ้านพักที่อยู่ในระยะทางที่เดินได้ จึงต้องใช้รถเป็นพาหนะในการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นรถประเภทใดก็ตาม ต่างต้องใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อน น้ำมันรถยนต์มีสารเคมีอินทรีย์เป็นองค์ประกอบหลัก  การพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อให้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ต้องอาศัยงานวิจัยทางเคมีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน
        
เมื่อถึงสถานที่ทำงาน หันมองไปรอบๆ ตัว อุปกรณ์ที่ใช้ในสำนักงานล้วนแล้วแต่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการทางเคมี ปากกาที่ใช้เขียนงาน หมึกของปากกา หมึกพิมพ์ที่ใช้ในคอมพิวเตอร์ เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องส่งแฟกซ์ ผลิตมาจากสารเคมีต่างๆ ทำให้มีสีและสมบัติต่างๆ กัน
        
หลังจากภารกิจที่ทำงาน ทุกคนต่างกลับบ้านเพื่อพักผ่อน ห้องต่างๆ มุมต่างๆ ในบ้าน มีสีต่างๆ กัน สีทาบ้าน ก็ผลิตมาจากสารเคมี ขณะที่เราไม่สบาย ไปหาหมอ หมอรักษาเราโดยการให้ยา ยานั้นก็ผลิตขึ้นมาจากสารเคมี ดังนั้น ไม่ว่าเราจะหันไปทางใด มองไปทางไหน ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ใหญ่หรือเล็ก ล้วนแล้วแต่มีสารเคมีเป็นองค์ประกอบทั้งสิ้น

Chemistry

Electrochemistry

Electrochemical Cell

Balance Redox Equation

                

           เคมี (Chemistry) มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก ที่ว่า “khemeia” ซึ่งถูกดัดแปลงมาจากคำว่า “khumos” โดยมีความหมายว่า “juice of plant” สำหรับพจนานุกรม Webster’s New World Dictionary ได้ให้ความหมายของคำ “chemistry” ไว้ดังนี้ “the science in which substances are examined to find out what they are made of, how they act under different conditions, and how they are combined or separated to/from other substances” หรือถ้าแปลเป็นไทย ก็คือ ศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับสสาร ว่าสสารนั้น ๆ ทำมาจากอะไร สามารถทำปฏิกิริยากับสารอื่นๆ ได้อย่างไร สามารถรวมหรือแยกสารนั้นๆ กับหรือจากสารอื่นๆ ได้อย่างไร